วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การรู้สารสนเทศ คืออะไร ???

ก่อนที่เราจะรู้ ว่าการรู้สารสนเทศคืออะไร เราควรรู้ความหมายของสารสนเทศก่อน ^^

. . . . . . . .>>>> สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่า สารสนเทศ เกิดจากการนำข้อมูล ผ่านระบบการประมวลผล คำนวณ วิเคราะห์และแปลความหมายเป็นข้อความที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  เช่น สารสนเทศที่เป็น ความรู้ที่เกิดจากวิทยุ โทรศัพท์มือถือ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รอบตัวเราซึ่งอาจมาจาก วิทยุ โทรทัศน์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ดาวเทียม โทรศัพท์ เครื่องจักร ที่เกี่ยวกับสารสนเทศได้ เครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ เช่น การฝาก ถอนเงินผ่านเครื่อง ATM การจองตั๋วเครื่องบิน การลงทะเบียน ฯลฯ


การรู้สารสนเทศ คืออะไร??

การรู้สารสนเทศ หรือ Information Literacy  คำนี้ได้มีผู้ให้คำนิยามหรือความหมายไว้หลากหลายท่าน ด้วยกัน ซึ่งสรุปได้ว่า การรู้สารสนเทศ หมายถึง ความรู้ ทักษะ ความสามารถของบุคคลในการตระหนักถึงความต้องการสารสนเทศ การเข้าถึงสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ การประเมินสารสนเทศ และนำสารสนเทศไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนร่วม
ในยุคสมัยที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างไร้ขีดจำกัด การรู้สารสนเทศในแต่ละประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น และยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น กับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในสังคมสารสนเทศ ได้มีนักสารสนเทศศึกษาและเล็งเห็นความสำคัญของการรู้สารสนเทศ  โดยสรุปถึงความสำคัญของการรู้สารสนเทศในแง่มุมที่น่าสนใจ ดังนี้
1. เป็นการแสวงหาสารสนเทศตามความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ได้รับรู้โอกาสในการเลือกใช้แหล่งสารสนเทศและแยกแยะแหล่งสารสนเทศได้
3. ได้วิเคราะห์และเลือกใช้สารสนเทศจากเครื่องมือสืบค้นสารสนเทศ เช่น จากคอมพิวเตอร์ และจากเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นๆ
4. มีความสะดวกต่อการใช้มวลชนที่หลากหลายที่เหมาะสมที่สุด
5. มีความระมัดระวังต่อการใช้สารสนเทศทั้งที่เชื่อถือได้และเชื่อถือไม่ได้
6. สามารถถ่ายทอดสารสนเทศที่รู้ให้ผู้อื่นทราบได้

ซึ่งจากนิยามและความสำคัญต่างๆ สามารถสรุป องค์ประกอบของสารสนเทศไว้ 5 ประการ คือ
1.               ความสามารถในการตระหนักว่าเมื่อใดต้องการสารสนเทศ มีความตระหนักว่า
สารสนเทศเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ และสารสนเทศที่ถูกต้องจะช่วยให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น
2.               ความสามารถในการค้นหาสารสนเทศ รู้ว่าจะได้สารสนเทศจากที่ใด และจะสืบค้น
สารสนเทศได้อย่างไร
3. ความสามารถในการประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศในฐานะเป็นผู้บริโภค
สารสนเทศที่มีวิจารณญาณ
4. ความสามารถในการประมวลผลสารสนเทศ กล่าวคือ สามารถคิด และวิเคราะห์สารสนเทศ
5. ความสามารถในการใช้และสื่อสารสารสนเทศให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความเข้าใจประเด็นต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารสนเทศ ตลอดจนการเข้าถึงและการใช้สารสนเทศอย่างมีจริยธรรมและถูกกฎหมาย
การรู้สารสนเทศมีบทบาทและความสำคัญต่อการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา เนื่องจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการรู้สารสนเทศ ว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 เพราะการรู้สารสนเทศทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งเป็นกลไกนำพาให้บุคคลมีการพัฒนาคุณภาพของตนอยู่เสมอ และหากประเทศใดประชาชนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถือว่าทรัพยากรมนุษย์ของประเทศนั้นย่อมมีคุณภาพดีกว่าประเทศอื่นๆ และการรู้สารสนเทศยังเป็นวิธีแห่งการมีอำนาจของบุคคลในสังคมสารสนเทศอีกด้วย ดังนั้นประชากรที่เป็นผู้รู้สารสนเทศจึงถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของประเทศในยุคนี้(สมาน ลอยฟ้า, 2544)
การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการสร้างสังคมสารสนเทศและสังคมความรู้ เป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นในสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ของมนุษย์เอาไว้ 4 ประการ คือ
                1. Learn to know เรียนเพื่อให้มีความรู้และมีวิธีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำความรู้ วิธีการเรียนรู้ที่ได้มาไปต่อยอด แสวงหาหรือผลติสร้างความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ
                2. Learn to do เรียนเพื่อที่จะทำเป็น หรือใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพและสร้างประโยชน์แก่สังคม
                3. Learn to live with the others เรียนเพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างมีความสุข และสร้างสรรค์
                4. Learn to be เรียนเพื่อที่จะเป็นผู้ที่จู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ สามารถพัฒนาตนได้เต็มตามศักยภาพ หรือพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
                จะเห็นได้ว่า 2 ใน 4 เป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาลักษณะนิสัยทางจริยธรรม แบบที่3 และ4 เป็นการเรียนรู้เพื่อการมีจริยธรรมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในการพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เพื่อสร้างลักษณะนิสัยทางจริยธรรมเพื่อความเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคม คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้

 

ทักษะการรู้สารสนเทศ

                ทักษะการรู้สารสนเทศ (Information Literacy Skill ) เป็นทักษะที่ทำให้บุคคลนั้นสามารถตระหนักถึงความต้องการของตนเองได้อย่างชัดเจน สามารถวิเคราะห์ความต้องการ กำหนดลักษณะของสารสนเทศที่ตนต้องการได้ สามารถเข้าถึงสารสนเทศ (Ability to access) และเข้าใจสารสนเทศที่มีอยู่อย่างหลากหลายในแหล่งสารสนทศต่างๆ สามารถใช้กลยุทธ์ในการสืบค้นสารสนเทศที่ต้องการ รวมทั้งสามารถประเมินหรือวิเคราะห์ สังเคราะห์สารสนเทศ และสามารถนำมาบูรณาการหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดความรู้ได้ (American Library Association, 1996) ซึ่งทักษะการรู้สารสนเทศเกี่ยวข้องทั้งทักษะทางคอมพิวเตอร์ ทักษะการคิดการใช้เหตุผล และทักษะทางภาษา ล้วนเป็นทักษะที่มีความสัมพันธ์กันในการที่จะทำให้เกิดทักษะรู้สารสนเทศได้
                Bruce (1997) ได้กล่าวถึงคุณลักษณะ 7 ประการ ที่เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้สารสนเทศที่ประกอบกลุ่มการรับรู้ต่างๆ (perception) ดังนี้
                1. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงการใช้งานและความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศ
                2. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับแหล่งสารสนเทศ เกี่ยวกับลักษณะของแหล่งสารสนเทศประเภทต่างๆ รวมถึงโครงสร้างของแหล่งสารสนเทศ สารมารถใช้แหล่งสารสนเทศได้ด้วยตนเองและอาศัยตัวกลางสารสนเทศ
3. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับกระบวนสารสนเทศ คือ การนำสารสนเทศไปใช้ในสถานการณ์ที่
บุคคลขาดความรู้หรือสารสนเทศ รวมไปถึงการค้นหาและการใช้สารสนเทศที่จำเป็น
4. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับการควบคุมสารสนเทศ ว่าด้วยการกลั่นกรองสารสนเทศ การใช้
ความคิดหรือความจำในการควบคุมสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บและค้นคืนเพื่อการควบคุมสารสนเทศได้
5. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับสร้างองค์ความรู้ องค์ประกอบที่สำคัญ คือ การคิดเชิงวิเคราะห์
(Critical Thinking) รวมไปถึงการจัดเก็บสารสนเทศ การนำสารสนเทศไปปรับใช้กับแนวความคิดส่วนบุคคล
6. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับการขยายองค์ความรู้ จะเป็นความสามารถโดยสัญชาตญาณและ
ความรู้แจ้งอย่างสร้างสรรค์
7. กลุ่มการรับรู้เกี่ยวกับความฉลาด รอบรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารสนเทศอย่างชาญ
ฉลาดเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
                เป้าหมายสูงสุดของทักษะการรู้สารสนเทศ คือ การให้ทุกคนกลายเป็นผู้ที่มีทักษะ
สารสนเทศ (Information Literate Person) และสามารถนำทักษะที่ได้ไปใช้ในการศึกษา การทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และผลของการสร้างความรู้และทักษะทางสารสนเทศนี้ จะเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับสังคมสารสนเทศ และรองรับยุคสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ




บรรณานุกรม


กาญจนา ทวีศักดิ์. (2550, ตุลาคม 8).  เด็กๆ กับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทางจริยธรรม.  มติชนหน้า 7.
จุมพจน์ วนิชกุล. สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น),
2549.
ทรงพันธ์ เจิมประยงค์..ห้องสมุดกับทักษะการเรียนรู้สารสนเทศ. วารสารห้องสมุด .48(1)
: 15-30. 2547.
น้ำทิพย์ วิภาวิน. การจัดการความรู้กับคลังความรู้.  กรุงเทพฯ : เอสอาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์. 2547.
สมาน ลอยฟ้า.  การรู้สารสนเทศ : ทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสารสนเทศ. มนุษยศาสตร์
สังคมศาสตร์. 19(1) ต.ค.-ธ.ค. 2544.
Bruce. C.  Seven faces of information literacy in higher education.From http://sky.fit.qut.edu.au/
bruce/inflit/faces/faces1.htm (July 15, 2007)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น